Solitude Is Bliss: การเติบโตในปีที่หยุดนิ่ง

    เป็นเวลาการเดินทางกว่า 8 ปีแล้ว ตั้งแต่ Montage อีพีอัลบั้มแรก ของ Solitude Is Bliss และซิงเกิลสุดแสนโดดเด่นอย่าง 4.00 A.M. ปล่อยออกมาให้ใครหลายคนได้หลงไปในเสียงเพลงที่มีสำเนียงแปลกใหม่และน่าหลงใหลของพวกเขา

เพลง 04.00 A.M. ของ Solitude Is Bliss ที่มียอดวิวในยูทูบกว่า 3.3 ล้านครั้ง

    มาถึงปี 2564 เรามีโอกาสนั่งคุยกับสมาชิกวง Solitude Is Bliss ในร้านกาแฟกลางเมืองเชียงใหม่ My Secret Café in Town ที่เสมือนเป็นฐานทัพรวมตัวของพวกเขา บทสนทนาของพวกเราเริ่มขึ้นเมื่อแก้วกาแฟวางเคียงตัว พวกเขาจิบเครื่องดื่มและเล่าเรื่องที่ผ่านมาอย่างผ่อนคลาย ทั้งช่วงเวลาที่ลำบาก ช่วงเวลาที่เฉิดฉาย และความคาดหวังทั้งหมด

สมาชิก Solitude Is Bliss จากซ้าย-ขวา ปอนด์-ทรงพล แก้ววงศ์วาร (คีย์บอร์ด), เบียร์-เศษรฐกิจ สิทธิ (กีตาร์), แฟรงค์-ศรัณย์ ดลพิพัฒน์พงศ์ (กลอง), เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล (ร้องนำ, กีตาร์), โด่ง-จอมยุทธ์ วงษ์โต (เบส)
จากจุดเริ่มต้นถึงตอนนี้
    บทสนทนาของเราเริ่มขึ้นตอนเย็นหลังวันปีใหม่เพียงไม่กี่วัน เบียร์-เศษรฐกิจ สิทธิ (กีตาร์) เล่าถึง Solitude Is Bliss ในตอนแรกว่าเป็นเพียงโปรเจกต์เล็กๆ ที่ เบียร์ และเฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล (ร้องนำ-กีตาร์) ร่วมกันสร้างขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักเป็นการทำอัลบั้มให้สำเร็จ เมื่อทุกคนในวงโอเคกับแผนการทำงานแต่ละขั้นที่วางไว้ จึงรวมตัวกันเป็นวงเพื่อสร้างผลงานดนตรี 
    พวกเขาแทบจะไม่ได้มองเป้าหมายในระยะไกล แต่เป็นการมองไปที่ปลายเท้าขณะการเดินทาง เพื่อให้แต่ละก้าวที่พวกเขาย่ำต่อไปนั้น ...หนักแน่นและมีพลังอยู่เช่นเดิม
    "แรกสุดจุดมุ่งหมายของเราก็น่าจะเป็นการอยากทำอัลบั้มสักอัลบั้มหนึ่ง เป้าหมายมันก็ค่อยๆ ขยับไปทีละนิด พอพิชิตอันแรกได้มันก็ตั้งเป้าไปเรื่อยๆ ไม่ตั้งไกล และไม่ตั้งตอนท้ายไว้เท่าไร" เฟนเดอร์เล่า สายตาของเขามองผ่านแว่นไปสบตากับเบียร์ที่นั่งอยู่ตรงข้าม
    "แต่สิ่งที่ไม่คาดหวังที่สุด ก็สำเร็จที่สุด คงเป็นตอนที่มีคนสักรอยสักเป็นชื่อวงเราแหละ" แฟรงค์พูดเสริมเข้ามาทันทีหลังเฟนเดอร์พูดจบ
    "มันย้อนแย้งเหมือนกันนะ วงเราเนื้อตัวสะอาด จะเจาะหูอะไรยังไม่กล้า แต่มีคนสักชื่อวงเราไปติดตัว เราดีใจมากเลยนะ อาจเป็นเพราะชื่อวงเราคำมันสวยด้วยแหละ" เฟนเดอร์พูดพลางเปิดผมโชว์ใบหูให้เราเห็นแล้วยิ้มไปกับคำพูดของตัวเอง
    จากอัลบั้มล่าสุด Please Verify That You Are Not Robot ที่พวกเขาได้ร่วมงานกับ เจ-เจตมนต์ มละโยธา (เจ Penguin Villa) เราถามถึงเรื่องความคาดหวังของการทำงานในอนาคตว่าเป็นอย่างไร พวกเขาจะเข้าไปสู่การเป็นวงดนตรีกระแสหลักไหม หรือ พวกเขาหวังเพียงที่จะสามารถเดินทางต่อไปด้วยตัวเองอย่างแข็งแกร่งได้เท่านั้น
    โด่งจัดปลายผมที่เลยมาถึงแก้ม ชิงตอบอย่างสั้นๆ และใจเย็นว่า "ไม่ค่อยได้คิดถึงเลย" 
    แต่การทำงานกับเจ เจตมนต์ เป็นการปูแนวทางช่วยในการตัดสินใจของพวกเขาให้มั่นคงและมีระเบียบมากกว่าเดิม "ถ้าจะพูดเรื่องคาดหวัง คือ มันไม่มีใครเคยพูดเรื่องนี้เลย เราก็คาดหวัง เป็นเหมือนเป็นอีกขั้นของเราไปด้วย แต่การร่วมงานกันในอัลบั้มนี้เป็นเหมือนการเข้าคลาสมากกว่า เข้าคอร์ส Professional 101 เหมือนพี่เจแกช่วยจำลองบรรยากาศการทำเพลงที่ควรจะเป็น แต่ถ้าเป็นแนวทางดนตรีก็ปฏิเสธไม่ได้ครับ ว่าอัลบั้มล่าสุดนี้มันค่อนข้างเป็นโทนดนตรีซาวน์ป๊อปใช้ได้" เฟนเดอร์กล่าวเสริมขึ้นมา
    ถึงแม้ในปีก่อนพวกเขาจะได้รางวัลศิลปินยอดเยี่ยมจากคม ชัด ลึก อวอร์ด ครั้งที่ 16 แต่อัลบั้มล่าสุดที่ทำให้เขาได้คว้ารางวัลของพวกเขาก็ปล่อยในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะเท่าไร จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในช่วงต้นปีจนถึงกลางปี ทำให้แผนโปรเจกต์ทัวร์ โปรเจกต์คอนเสิร์ตใหญ่ ที่วางไว้ก็ล่มกันไปหมด ส่วนด้านกระแสตอบรับ ตัวแฟรงค์ที่วางแผนของตัวเองเอาไว้ ก็คิดไว้ว่าเพดานของงานดนตรีนั้นจะสูงและรอดพ้นจากวิกฤตไปได้ แต่สุดท้ายก็โดนผลกระทบกันทั้งระบบ
เรื่องราวที่ผ่านมา
    ปี 2563 ทุกคนแทบได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กันหมด ทางวง Solitude Is Bliss ก็ไม่ต่างกัน สมาชิกวงถูกสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำกัดพื้นที่ให้ต้องกลับมาใช้ชีวิตในวิถีที่เรียบง่าย แตกต่างจากดนตรีที่มีรสชาติแสบสันของวง ซึ่งพวกเขาเล่าถึงสิ่งที่แต่ละคนทำเอาไว้
    เฟนเดอร์ตอบมาคนแรกอย่างมั่นใจ "เล่นโมเดล มิกซ์มาสเตอร์ ช่วยโคโปรดิวซ์ให้วงอื่นไปด้วยครับ แต่รู้สึกว่าจะอ่านหนังสือไปเยอะเหมือนกันนะช่วงนั้น"
    "ส่วนผมประกวดกีตาร์ ขายพริกหม่าล่าด้วยเพื่อลิ้มรสความตื่นตัวของตัวเอง และไปทำงานกับโด่ง ส่วนใหญ่ผมจะอยู่กับกีตาร์เยอะมาก เป็นงานสนองแพสชั่นตัวเอง" เบียร์หัวเราะปิดท้ายคำตอบ 
    ซึ่งโด่งบอกว่าเขาทำงานโปรดักชั่น เบื้องหลัง รวมถึงทำอะไรหลายอย่าง ไม่ให้เสียเวลา
    ในขณะที่แฟรงค์มีความแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นพอสมควร "ผมกำลังเปิดร้านสเต็กด้วย พอเจอล็อกดาวน์ก็โดนปิด หนังใน Netflix นี่ก็ดูหมด เห็นอะไรขึ้นฟีดก็ดูหมด ซีรีย์เกาหลีก็ดูหมดเลย" 
    ส่วนปอนด์มีทั้งเล่นเกม ดูหนัง แต่ลองทำแชแนลยูทูบ และหาสเปคคอมพิวเตอร์ที่เหมาะกับการทำงานไปด้วย
    เมื่อถามถึงช่วงเวลาการทำงานที่พวกเขาคิดถึงและชอบมากที่สุดในปีที่แล้ว สมาชิกทั้งวงต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันเป็นคอนเสิร์ต Rock the Boat ที่จัดช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ถึงแม้จำนวนผู้ชมอาจจะไม่มากเท่าปกติ เพราะจัดบนเรือสำราญแล่นผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แต่คำว่า 'คุณภาพล้วนๆ' คือคำนิยามสั้นๆ ที่เฟนเดอร์พูดพร้อมยิ้มกว้างถึงคนดูในวันนั้น
    แฟรงค์จิบกาแฟข้างตัวเขาแล้วเล่าเสริม "Rock the Boat อาจจะจำกัดจำนวนไว้มากที่สุดได้แค่นั้น แต่คนที่มาเป็นคนที่ตั้งใจมาดูมาร้อง เป็นคนที่รู้จักพวกเราได้สักพักแล้ว ซึ่งตรงนั้นแฮปปี้มาก เห็นทุกคนเอ็นจอยก็โอเคมากเลย"  
    "บรรยากาศมันไม่เหมือนใครเลย แล้วเป็นงานแรกด้วยนะที่เจ้าของงานเข้ามากระซิบ บอก อีก 1 ชั่วโมงได้ไหม ตกใจหมดเลย เพราะว่าเป็นงานแรกที่เราจัดเอง และเป็นครั้งแรกเหมือนกันนะที่มีใครมาขอเอง" เฟนเดอร์เล่าปิดพร้อมหัวเราะไปกับสมาชิกในวงไปด้วยถึงเรื่องราวในวันนั้น
อุดมการณ์ไม่ผันแปรตามเวลา
    นอกจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดเข้าสู่ร่างกายผู้ติดเชื้อจำนวนมากในปีที่แล้ว เชื้ออุดมการณ์ของเหล่าเยาวชนสมัยใหม่ก็แพร่เข้าไปในจิตใจคนอยู่ไม่น้อย ซึ่งผลงานของ Solitude Is Bliss ก็มีพูดถึงประเด็นการเมืองอยู่บ้าง ในอัลบั้มล่าสุดก็มีเพลงอย่าง Show Time, Glory Will Come Last  และ Golden Whistle ที่ใส่ประเด็นการเมืองไว้อย่างตรงตัว 
    แต่ถ้าพูดถึงบทบาทของวงจริง ๆ เฟนเดอร์บอกเลยว่า ทางวงยังไม่เคยที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง เคยมีแค่เกือบที่จะได้เข้าไปเล่นงาน Mob FEST แต่สุดท้ายก็ชวดไปจากการเลื่อนวันจัดงานไปชนกับงานอื่นพอดี  ดังนั้นด้านการมีส่วนร่วมในการเมือง ส่วนใหญ่จะแยกไปเป็นแต่ละคนมากกว่า หรือใช้ผลงานเพลงเป็นกระบอกเสียงเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมเป็นหลัก
    "ในอนาคตถ้าเกิดการเคลื่อนไหวในเชียงใหม่เยอะขึ้น ก็น่าจะมีโอกาสเยอะขึ้นนะครับ เพราะว่าเราก็เป็นวงดนตรีที่อยู่เชียงใหม่เป็นหลัก เวลาเขาชักชวนที เราจะบินไปกรุงเทพฯ มันก็ไม่ใช่ใกล้ๆ นะครับผม" เฟนเดอร์พูดถึงการมีส่วนรวมทางการเมืองของวงเพิ่มเติม ก่อนที่เขาจะพูดถึงประเด็นวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า "ประเทศไทยนั้นยังไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมการวิจารณ์ ยังเข้าใจว่าการวิจารณ์คือการทุบตีด้วยคำพูด ทั้งที่ความจริงแล้วการวิจารณ์คือบอกความจริง การพูดคุยด้วยเหตุผล ยิ่งถ้าเรารักอะไรมากเท่าไรเรายิ่งต้องติต้องพูดให้ชัดเจนมากขึ้น" 
    ยิ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา Solitude is Bliss เคยถูกนิยามว่าเป็น 'กระบอกเสียงแห่งยุคสมัย' จากการใช้บทเพลงเป็นสื่อกลางสะท้อนสังคมในประเทศไทยอย่างกล้าหาญและไม่ประนีประนอมอยู่เหมือนกัน
    เฟนเดอร์วางแก้วกาแฟลงเหมือนอยากที่จะพูดถึงเรื่องนี้ หลังจบคำพูดของเราทันที "ผมว่ามันเป็นหน้าที่พื้นฐานของทุกคนเลย ไม่ต้องเป็นศิลปินก็ได้นะ คนจะพูดออกมาเป็นตัวของตัวเอง คือความเข้าใจแต่ละคนที่ว่ามองว่าศิลปินเป็นสัญลักษณ์ของกระบอกเสียง แต่ที่มาของกระบอกเสียงของศิลปินนั้น มันเป็นเพราะเขาใช้เป็นคู่มือของเสียงแค่นั้นเอง ทีนี้มันก็แล้วแต่ ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินที่พูดถึงการเมืองก็ได้ เหมือนถ้านับศิลปินเป็นพลเมืองคนนึงในสังคม ในเมื่อศิลปินคนนั้นมีเครื่องมือเป็นกระบอกเสียง ก็แค่ใช้เครื่องมือนั้นในการพูดแล้วมันอาจจะถูกเผยแพร่ในมุมกว้างกว่าความปกติแค่นั้นเองครับ แต่ความจริงแล้ว สำหรับคนทั่วไปไม่ว่าใครก็ช่าง อยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม ควรพูดได้เต็มที่ ควรด่าระบบสังคมตัวเองได้ไม่ว่าสังกัดไหนก็ตาม"
    "ถือว่าเป็นเพลงที่ทำงาน" เบียร์กล่าวปิดท้ายและสบตาไปที่เฟนเดอร์ที่พยักหน้าตอบ

    แสงอาทิตย์ค่อยๆ ลับขอบฟ้าเมื่อเราพูดถึงผลงานดนตรีกับสถานการณ์ทางการเมืองมาจนถึงตอนนี้ ความสว่างนอกหน้าต่างเริ่มคล้อยจางไป แต่ก่อนที่แสงจากหลอดไฟจะถูกเปิดขึ้นมาทดแทน เราพบแสงสว่างจากความหวังถูกจุดขึ้นก่อนแล้ว จากอุดมการณ์ของนักดนตรีเบื้องหน้าทั้ง 5 ที่สามารถทดแทนแสงสว่างที่เลือนหายไปจากการเมืองไทยได้ชั่วขณะหนึ่งเลย

เรื่องราวจากวันนี้ถึงอนาคต
    เมื่อพูดถึงอนาคตของวงดนตรีโดยทั่วไป วงดนตรีแทบทุกวงต้องอยากที่จะมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม จนอาจต้องกลืนน้ำลายเพื่อเปลี่ยนสไตล์งานของตัวเอง ขยับตัวเองเข้าไปใกล้กับผู้ชมมากขึ้น เพื่องานและรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามกันไปด้วยกัน แต่สำหรับ Solitude Is Bliss แล้ว เบียร์บอกกับเราพร้อมรอยยิ้มว่า "เราคงไม่อยากทำแบบนั้นเพื่อดังและมีชื่อเสียงแบบนี้หรอก มันทรมานมากเลย" 
    ส่วนทางด้านแฟรงค์ก็พูดเสริมพลันจิบกาแฟแล้ววางแก้วลงข้างตัว "จริงๆ สำหรับเรา คำว่า ป๊อป มันไม่ได้กำหนดด้วยแนวเพลงนะ อย่างกรณี Taitosmith เพื่อชีวิตในความเป็นคนไทยจริงๆ มันก็เป็นป๊อป แต่เพลงเพื่อชีวิตสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ มันก็ไม่ใช่แนวทางที่คนปกติจะไปฟังคาราบาวอะไรทุกวันขนาดนั้น ผมมองว่าป๊อปมันเป็นแนวอะไรก็ได้เลยที่มันมาถูกเวลา เราไม่ควรไปจำกัดประเภท (Genre) ของแนวเพลงป๊อปว่ามันต้องง่าย แค่มันเข้าหูและความรู้สึกกับคนบางกลุ่ม มันก็ถือว่าป๊อปสำหรับเราแล้ว" 
    โดยปี 2564 นี้พวกเขาก็วางแผนไว้ว่าจะทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนอย่าง live-Session, recording-Session ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ถูกพับไว้ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดออกมาระลอกแรก แต่ปัญหาในตอนนี้ก็คงเป็นเพียงการจัดการเวลาของตัวสมาชิกวงที่แตกต่างในตอนเริ่มวงช่วงแรกในตอนยังเป็นนักศึกษาอยู่
    เราถามถึงความเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นในการทำงาน ซึ่งโด่งตอบมาอย่างเรียบง่ายเช่นเดิม  "ถ้าให้นับตั้งแต่แรกก็ไม่ได้คิดว่าจะเหนื่อยขึ้น มันก็ไปเรื่อยๆ สนุกเหมือนเดิม" เมื่อเห็นรอยยิ้มหลังจากโด่งพูดออกมา จึงรู้ได้เลยว่าพวกเขายังคงสนุกกับการเล่นดนตรีอยู่เหมือนเดิมจริงๆ
    ซึ่งในอนาคตพวกเขาคิดไว้เพียงว่าจะมีอีพีที่โปรดิวซ์กันเอง เหมือนบททดสอบหลังจากการเข้าคอร์สกับเจ เจตมนต์ในอัลบั้มล่าสุด สิ่งที่ท้าทายพวกเขาในตอนนี้คงเป็นเพียงการวางแผนเท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาและความประณีตมากกว่าที่เคย และเป็นเหมือนการกลับมาสู่จุดเริ่มต้นของพวกเขาในการสุมหัวตัดสินใจทำอะไรด้วยกันอีกครั้ง
    เฟนเดอร์แอบแง้มพูดติดตลกถึงแผนคอนเสิร์ตใหญ่ทิ้งท้ายเอาไว้ "20 ปีนู่นค่อยจัด (หัวเราะ) ถ้าไม่มีโควิดก็มีลุ้นอยู่นะ แต่พอมีโควิดแล้ว โอเคแหละ อายุวง จำนวนเพลงมันจัดได้แล้วก็จริง เรารู้สึกว่ามันยังไม่พร้อมในการทำงานจริงๆ มันจะเหนื่อยมีปัญหาไปซะเปล่า ก็อยากให้มันพร้อม แบบพร้อมไปทั้งระบบ คนดู สต๊าฟ และ เวลาว่างที่จะซ้อมของศิลปินไรอย่างนี้ แล้วลงไปกับมันเต็มที่" เหมือนว่าพวกเขายังไม่หยุดที่จะเรียนรู้เลยจริงๆ
    จากการเดินทางของวง Solitude is Bliss บนระยะเวลากว่า 8 ปี ทุกครั้งเวลาที่พวกเขาปล่อยเพลงใหม่ออกมา เรายังรู้สึกเหมือนว่าได้กลับไปเป็นเด็กที่เพิ่งเคยฟังเพลงของพวกเขาเสมอ คงเพราะพวกเขาเป็นวงดนตรีที่พัฒนาตัวเองและเดินทางไปทีละก้าว 
    ส่วนสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอย่างอายุและความสามารถทางดนตรีของพวกเขา คงแลกมาด้วยการตัดสินใจที่แน่วแน่กับความมีวินัยที่อยู่เบื้องหลังบทเพลงของพวกเขานั่นเอง
Favorite Something
  •   ซีรี่ส์ Dark Knight, Viking
  •   Hariguem Zaboey, Khruangbin
  •   ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน - วินทร์ เลียววาริณ, วิญญาณขบถ - คาลิล ยิบราน
  •   คณะราษฎร, Jonathan Kreiburg, Kory Helly

ศุภวิชญ์ ไชยวรรณ

นักศึกษาฝึกงานจากเชียงใหม่ ไฟแรงและตัวบวม ชอบเดินหอศิลป์พร้อมหูฟังในวันหยุด ให้ความรักกับพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองมาก แต่พื้นที่ในท้องก็ไม่เคยทิ้งให้ว่างเลย

พชร กันธะวัง

เด็กหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้หลงรักการถ่ายภาพ ไม่ค่อยเก่งเรื่องการพูดแต่ชอบใช้ภาพถ่ายเพื่อสื่อสารมากกว่า