japfac: กระเป๋าเก็บฝันของสองเพื่อนซี้

    "มันไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น แต่มันคือเครื่องมือในชีวิตประจำวันที่เราจำเป็นต้องใช้" นี่คือประโยคนิยามกระเป๋าของสองเพื่อนซี้ที่ร่วมกันก่อตั้งแบรนด์แจปแฟค (japfac) 

    แบรนด์กระเป๋าสไตล์เรียบง่าย วางตัวดีไซน์ให้ผู้ชายใช้ได้ ผู้หญิงสะพายก็เท่ และมากด้วยฟังก์ชันตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย นัท-คณัสนันท์ เข็มทอง และ เจน-เจนจิรา ทรัพย์สกุล สองเพื่อนซี้จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกแบบกระเป๋าทุกใบของพวกเขาอย่างประณีต เลือกใช้แต่วัสดุผ้าที่ทนทานให้กระเป๋าของแจปแฟคอยู่คู่กับผู้ใช้นานที่สุด และเป็นเหตุผลให้หลายคนติดใจกระเป๋าของแจปแฟค

    นัทและเจนใส่ใจลงไปในกระเป๋าทุกใบของพวกเขา เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับของที่ดีที่สุด และอีกเหตุผลสำคัญก็คือ กระเป๋าทุกใบของแจปแฟคนั้น มีความฝันของพวกเขาอยู่ข้างใน

    เพื่อที่จะรู้จักแจปแฟคให้มากขึ้น เราลองมาเปิดกระเป๋าของนัทและเจนดูดีกว่าว่า ข้างในนั้นมีเรื่องราวอะไรอยู่บ้าง

    นัทและเจนทำแบรนด์ด้วยกันตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย โดยเริ่มแรกจากการรับเครื่องประดับมาขายด้วยกันตั้งแต่ปี 1 กระทั่งเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจะขายโปรดักต์ที่พวกเขาเป็นผู้ออกแบบเองบ้าง และสิ่งที่เขาและเธอเลือกทำก็คือ กระเป๋า

    "เวลาเราจะซื้อกระเป๋า บางครั้งดีไซน์มันได้ แต่ฟังก์ชันมันไม่ใช่ บางทีฟังก์ชันได้ แต่กลับไม่เข้ากับสไตล์เรา ก็เลยตัดสินใจทำกระเป๋ากัน" นี่คือเหตุผลที่ทำให้นัทสนใจหันมาทำกระเป๋า แล้วจึงชวนเจนให้มาร่วมโปรเจกต์นี้ด้วยกัน

    "ทำดิ" เจนตอบกลับคำชวนของเพื่อนสนิทแทบทันทีโดยไม่ต้องวางแผนหรือคิดอะไรมาก "ก็เป็นการเริ่มต้นทำแบรนด์ที่งงดี" เจนเล่าเสริมอย่างมีอารมณ์ขัน

    ทั้งคู่เริ่มต้นออกแบบกระเป๋าใบแรกของพวกเขากันอย่างจริงจัง และเริ่มต้นง่วนกับการหาช่างเย็บกระเป๋าฝีมือดี กระทั่งพบกับช่างคนหนึ่งที่นัทและเจนยกให้เป็นอีกคนสำคัญในทีม เพราะช่างคนนี้คือผู้ทำหน้าที่สร้างภาพฝันในหัวของสองเพื่อนซี้ให้ออกมาจับต้องได้จริง กระเป๋าทุกใบของแจปแฟคจึงเป็นกระเป๋าที่ผลิตในรูปแบบแฮนด์เมดจากช่างมีฝีมือที่ทั้งคู่ไว้ใจ

    คอลเล็กชันแรกของแจปแฟคเป็นกระเป๋าทรงโท้ต (Tote) ที่นัทและเจนเพิ่มลูกเล่นเข้าด้วยการดีไซน์ดีเทลอย่างละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกวัสดุอย่างผ้ายีนส์ที่ต้องเป็นผ้าริมเท่านั้น เพื่อที่เวลากลับริมแล้วจะสามารถเห็นดีเทลบางอย่างที่ซ่อนไว้ เป็นต้น

     "จริงๆ ลูกค้าก็ไม่รู้นะ ถ้าเราไม่บอก" เจนพูดแทรกเรียกเสียงหัวเราะ

    คอลเล็กชันแรกของแจปแฟคถูกวางขายครั้งแรกที่งานกิ๊ฟต์ (Gift Festival) ของมหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับเปิดหน้าร้านบนตลาดออนไลน์ (ซึ่งตอนนี้ยังคงเป็นช่องทางหลัก) มีการพรีเซนต์เรื่องราวของตัวสินค้าในแต่ละคอลเล็กชันอย่างมีชั้นเชิง เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่ากระเป๋าแต่ละใบของพวกเขานั้นอยู่อย่างไรบนร่างกายคน จนได้รับความสนใจและกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

    "จุดแจ้งเกิดของแจปแฟคเลยก็คือคอลเล็กชันดัฟเฟิล (Duffle Bag) ขายดีมาก ตอนนี้ก็ยังขายได้อยู่ เรารู้สึกภูมิใจกับคอลเล็กชันนี้เพราะเราวาดไอเดียกันลงในกระดาษโง่ๆ ไม่มีขึ้นแบบ 3 มิติให้จับต้อง ต้องขอบคุณช่างเย็บกระเป๋าของเรานะที่สามารถเข้าใจอะไรอย่างนี้ได้" นัดหัวเราะเมื่อเล่าย้อนถึงความภูมิใจในตอนนั้น

    ปัจจุบันสินค้าของแจปแฟคมีฝากขายตามหน้าร้านขายสินค้าดีไซน์เก๋ๆ ตามที่ต่างๆ (หนึ่งในนั้นคือร้าน happening shop) ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ จนมีวางจำหน่ายที่ต่างประเทศ และพวกเขาก็กำลังพยายามมองหาโอกาสไปงานอีเวนต์ต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น

    "เป้าหมายที่เราฝันคืออยากให้สินค้าของเรามันเวิลด์ไวด์ (World Wide) ด้วยความที่กระเป๋าของเรามันเรียบเป็นภาษาสากลที่คนทั้งโลกเข้าใจได้ง่าย อันนี้คือฝันที่เราวางไว้ไกลๆ" นัดอธิบายถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต "ส่วนตอนนี้เรากำลังจะออกคอลเล็กชันใหม่ ถ่ายแบบเซตใหม่ จะเล่าเรื่องอะไรบางอย่างที่สนุกและแปลกขึ้นกว่าคอลเล็กชันก่อน"

     "เราก็ไม่ได้กำหนดว่าเมื่อไหร่ต้องออกคอลเล็กชันใหม่นะ" เจนช่วยอธิบาย "เราต้องการให้มันถูกกรองแล้วตกผลึกจนแน่ใจว่าเป็นอันนี้แหละ บางทีคิดได้แต่มันยังไม่คลิก ก็ต้องให้คลิกก่อน ทดลองใช้กันเองเพื่อหาจุดบกพร่องและแก้ไขจนโอเคแล้ว ถึงพร้อมปล่อยคอลเล็กชันให้ถึงมือลูกค้า" เจนอธิบายถึงกระบวนการทำงานในแต่ละคอลเล็กชัน

    ถึงคำว่า 'แจปแฟค' ที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่เป็นคำที่ทั้งคู่ผุดคิดขึ้นได้ขณะนั่งอยู่บนรถเมล์ และเลือกใช้คำนี้มาตั้งชื่อแบรนด์ของพวกเขา ตลอดระยะเวลาที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา นัทและเจนคงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าคำว่า 'แจปแฟค' ตอนนี้มีความหมายกับพวกเขาแค่ไหน เช่นเดียวกับความผูกพันและความฝันในกระเป๋าของพวกเขาที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นกระเป๋าในคอลเล็กชันใหม่ๆ ให้เราได้ใช้
    เจนพูดถึงแนวคิดในการพัฒนาดีไซน์กระเป๋าของพวกเขาที่มีลูกเล่นใหม่ๆ อยู่เสมอว่า "การออกแบบส่วนใหญ่เกิดจากการคุยกันเองก่อนว่าเราอยากใช้กระเป๋าแบบไหน คืออิงจากความต้องการของตัวเอง แล้วทบทวนว่าในแบรนด์ยังขาดกระเป๋าแบบไหนหรือฟังก์ชั่นไหนอีกที่เรายังต้องการใช้ เช่น ตอนนี้มีกระเป๋ารุ่น Noteley ที่ออกมาเพื่อรองรับการใช้โน้ตบุ๊คกับไอแพด ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตของคนในยุคนี้มากขึ้นด้วยค่ะ"
    นอกจากนั้น สายกระเป๋า รุ่นต่างๆ ที่ออกมาให้เลือกแมชกับกระเป๋าได้หลายรุ่น ยังเป็นอีกไอเท็มหนึ่งซึ่งแจปแฟคเพิ่มเข้ามา ซึ่งเจนเล่าว่าเริ่มมีกิมมิคนี้ครั้งแรกตอนทำกระเป๋ารุ่น Candy Nylon ออกมา ซึ่งนอกจากจะเปิดมุมมองลูกค้าด้วยการนำเสนอไอเดียในการใช้สายร่วมกับกระเป๋ารูปแบบต่างๆ ให้ดูแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งหรือสร้างสรรค์วิธีการใช้งานด้วยตัวเองได้ด้วย
    "ข้อต่อของสายที่มีจะสามารถปรับใช้กับกระเป๋าของเราได้หมดเลย แล้วมีฟีดแบ็คกลับมาว่าลูกค้ามีไอเดียนำไปใช้แบบอื่นด้วย เช่น เคยเห็นลูกค้านำสายคล้องแมสไปใช้เป็นเข็มขัดก็มีค่ะ"
    แม้ว่าตอนนี้แบรนด์แจปแฟคยังคงพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ มีการสลับกันเป็นเจ้านายและลูกน้องบ้าง แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาการทำงานร่วมกันแบบเพื่อนเอาไว้  ซึ่งนี่คือหนึ่งในขุมพลังของแจปแฟค ที่ทำให้นัทและเจนพร้อมลุยกับทุกปัญหาที่เจอ 
    "เราจะไม่ค่อยกลัวอะไร อาจจะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไร เพราะเรารู้ว่าเพื่อนจะคอยซัพพอร์ตเรา เราถึงกล้าลุยกันไปในหนทางข้างหน้า" นัทบอกพร้อมรอยยิ้ม
    เจนพูดถึงก้าวต่อไปของแจปแฟคว่า "ตอนแรกที่เราขายแค่กระเป๋า ตอนนี้เรามองทิศทางของแบรนด์ให้ครอบคลุมมากขึ้นไปถึงเรื่องไลฟ์สไตล์แล้วนะ เรากำลังออกโปรดักส์ใหม่เป็นเก้าอี้แคมป์ ซึ่งเป็นเหมือนโปรดักส์แรกที่จะแตกไลน์ออกไปในอนาคต ซึ่งอาจจะมีสินค้าอื่นๆ ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์เพิ่มขึ้นมา" แน่นอนว่าเราเฝ้ารอสินค้าใหม่ๆ ที่กำลังจะออกมาอย่างใจจดใจจ่อทีเดียว
    ความเติบโตของแจปแฟคทำให้ทุกวันนี้นัทและเจนมีทีมงานมาช่วยแบ่งเบาภาระ เพื่อให้เขาและเธอสามารถมองภาพรวมของแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น การจัดการที่เพิ่มเข้ามาจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ทั้งคู่เติบโตไปพร้อมกับแบรนด์ด้วยเหมือนกัน
    หากคุณอยากจะรู้จักกับ 'แจปแฟค' ให้มากขึ้นไปกว่านี้ แนะนำว่าต้องลองเปิดกระเป๋าของพวกเขาดู

    ชมสินค้าของแจปแฟคในเว็บไซต์ happeningandfriends.com ได้ที่ japfac หรือ เดินทางไปสัมผัสกับกระเป๋ารุ่นต่างๆ ด้วยตัวเองที่แฟล็กชิพสโตร์ทั้ง 2 สาขา ได้แก่ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และ เซ็นทรัล ลาดพร้าว และ happening shop ทั้ง 2 สาขา ได้แก่ สาขาหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และ สาขาโครงการดาดฟ้า ลาซาล

สุภาพรรณ มะเทวิน

เด็กหญิงขี้สงสัย สนใจในทุกเรื่อง มีความสุขกับการวาด การอ่าน การเขียน ชอบท่องเที่ยว ชอบถ่ายรูป ชอบผู้คน ชอบดูหนัง หลงใหลในความบันเทิง ของกิน และของฟรี

เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา

นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม